อยากมีหนังสือของตัวเอง ต้องมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง

อยากมีหนังสือของตัวเอง ต้องมีความรู้อะไรบ้าง?

 
การมีหนังสือสัก 1 เล่ม อาจเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่า ‘ยาก’ ถ้าหากไม่มีความรู้ในเรื่องการเขียน การผลิต การออกแบบ หรือโครงสร้าง องค์ประกอบทั้งหมดของการจัดทำขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘นักเขียนหน้าใหม่’
 
ทั้งนี้ หนังสือก็มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายแนวเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น หนังสือนิยาย หนังสือการ์ตูน เรื่องสั้น บทความ หรือการเขียนหนังสืออื่น ๆ ทำให้บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า จะต้องเริ่มต้นอย่างไร ? และมีขั้นตอนอะไรบ้าง ? ถึงจะออกมาเป็นหนังสือ 1 เล่มได้ อีกอย่างเป้าหมายของการเขียนหนังสือนั้นก็มีหลายรูปแบบ เช่น เขียนเป็นงานอดิเรก เขียนเพื่อแบ่งปัน หรือ เขียนเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเรานั้นอยากทำแบบไหน…


ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกคนไปดูว่า ถ้าเราอยากมีหนังสือของตัวเอง ต้องมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง ? ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย…

อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม ต้องทำอย่างไร มีกี่ขั้นตอน

 

 

เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ต้องทำตามนี้

 

1. เลือกอ่านหนังสือเล่มที่ชอบ

ข้อแรกนี้ เป็นขั้นเริ่มต้นของนักเขียนทุกท่าน การรู้จักเลือกหาหนังสือเล่มที่ชอบมาอ่าน เป็นเหมือนการทำความเข้าใจ สังเกต เก็บข้อมูล และดูวิธีการเขียนหนังสือของผู้เขียน ซึ่งถือเป็นวิธีการแรกสุดของการเริ่มต้นหัดเขียน เมื่อเราอ่านและจับสังเกตได้ว่า เขามีวิธีการเขียนอย่างไร เขาเลือกใช้คำแบบไหน เขาเริ่มต้นอย่างไร เขาลงท้ายอย่างไร เราก็สามารถนำมาเป็นไกด์สำหรับการเริ่มต้นเขียนของเราได้เช่นกัน

 

2. จับจุดหาสิ่งที่อยากเขียน

เราต้องถามตัวเองให้ดีว่า สิ่งที่อยากเขียนคืออะไร อยากเขียนแนวไหน ซึ่งในการเขียนหนังสือแต่ละแนว เราก็ต้องศึกษาวิธีการเขียนแบบนั้น ๆ ด้วย เช่น เขียนเรื่องสั้น ต้องมีโครงเรื่อง ตัวละคร รู้จักวิธีการเล่าเรื่อง มีประเด็นที่จะเขียน คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป องค์ประกอบเป็นเกณฑ์นำทางในการเริ่มต้นเขียน

 

3. หัวข้อที่จะเขียน

เมื่อรู้แล้วว่า จะเขียนอะไร แนวไหน ก็ให้หาประเด็น หาหัวข้อที่จะเขียน โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ ต้องกำหนดโจทย์ในการเขียนให้ตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่ยอมเขียน

 

4. เขียนแล้วอ่านออกเสียง

เพราะมือใหม่เริ่มหัดเขียน อาจไม่ค่อยมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนนั้นดีหรือไม่ ดังนั้น อันดับแรกคือเราต้องเขียนให้ตัวเราเองอ่านแล้วพอใจก่อน ซึ่งวิธีการก็คือ ให้เราเขียนไปตามความรู้สึก เขียนแบบเพื่อสื่อสารข้อความให้เข้าใจ อย่าเพิ่งไปกังวลกับสำนวนหรือความสวยงามของภาษามากนัก เราคิดอย่างไร ก็เขียนอย่างนั้น เราพูดอย่างไร ก็เขียนอย่างนั้น เมื่อเขียนจบ ให้ลองอ่านออกเสียง และฟังสิ่งที่เราเขียนไป จะทำให้เราเริ่มจับได้ว่า ตรงไหนติดขัด ตรงไหนไม่ลื่นไหล ตรงไหนสะดุด แล้วก็ค่อย ๆ เกลา แต่งเติมไปทีละนิด

 

5. แบ่งปันงานเขียน

อย่าเก็บเอาไว้อ่านคนเดียวเด็ดขาด เพราะคุณค่าของนักเขียนนั้น ก็เกิดจากการมีคนอ่านทั้งสิ้น ดังนั้น อย่าอาย อย่ากลัว และเปิดใจยอมรับทุกคำติชม เพราะไม่มีทางที่งานเขียนของเราจะไม่ถูกวิจารณ์ แต่ในการถูกวิจารณ์ก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเอง พัฒนางานเขียนของเราให้ดีขึ้นไปอีก

 

6. เขียนอย่างสม่ำเสมอ

การมีวินัย ความสม่ำเสมอในการเขียน จะทำให้เราเขียนเก่งขึ้น ไวขึ้น คมขึ้น และการมีงานเขียนส่งไปให้ผู้อ่านทุกวันสม่ำเสมอ คือ สิ่งที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจเรามากขึ้น ยอมรับเรามากขึ้น และชื่นชอบผลงานของเรามากขึ้น ซึ่งการเป็นนักเขียน หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก คือ การคิดและการเขียน ทั้งนี้ความขยันเขียนและพัฒนาตัวเอง จะทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม ต้องทำอย่างไร มีกี่ขั้นตอน

 

ขั้นตอนการทำหนังสือตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้าย

 

1.วางโครงเรื่อง

คือ หัวใจหลักของงานทุกชนิด นั่นก็เพื่อเป็นการกำหนดจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดหมาย เราต้องรู้ว่า เรื่องของเราจะเริ่มยังไง ? จบยังไง ? คิดไว้ก่อนคร่าว ๆ

วิธีการก็คือเขียนออกมาแบบคร่าว ๆ ให้พอรู้ว่าประมาณไหน จากนั้นก็เริ่มทำการเขียนเนื้อเรื่องตามโครงเรื่องที่เราวางไว้ได้เลย

2.Re-Write

หลังจากพิมพ์เนื้อหาทุกอย่างเสร็จแล้ว ให้กลับไปอ่านเรื่องที่เขียน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย เพื่อหาดูว่า มีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง เช่น สำนวน การสะกด วรรคตอน ย่อหน้า เป็นต้น เมื่อรู้ว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนก็ค่อย ๆ แก้ไข

แต่การ Re Write รอบเดียวอาจจะไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงควรอ่านอย่างน้อย 3 – 5 รอบ เพื่อให้ไม่เจอข้อผิดพลาดอีก

3.ส่งให้บรรณาธิการ

บรรณาธิการ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต้นฉบับของนักเขียน ซึ่งบรรณาธิการจะทำหน้าที่แก้ไข แนะนำสิ่งที่สมควรต่าง ๆ จากนั้นต้นฉบับที่ถูกแก้ไขแล้วจะถูกปริ้นท์ใส่กระดาษ A4 เพื่อส่งกลับมาที่นักเขียนอีกครั้ง โดยระยะเวลาที่บรรณาธิการตรวจสอบประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หรือตามเวลาที่ตกลงกัน 

4.Edit

เป็นการ Re Write โดยนักเขียน ซึ่งตรงกระบวนการนี้ ต้นฉบับของนักเขียนจะเหลือข้อผิดพลาดน้อยมาก นักเขียนจะได้ต้นฉบับมาดูอีกครั้งเพื่อตรวจว่ามีอะไรตกหล่นหรือไม่ ? และตรงนี้บรรณาธิการส่วนใหญ่จะแจ้งมาว่า ขอแก้ตรงนี้ ขอแนะนำตรงนี้ มีข้อสงสัยตรงนี้ นักเขียนก็ปรับตามความเหมาะสม นอกจากการตรวจตราและแก้ไขแล้ว นักเขียนยังสามารถเพิ่มเติมความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่องได้ด้วย

5.ส่งกลับไปให้บรรณาธิการ

การส่งกลับไปให้บรรณาธิการครั้งนี้ เพื่อตรวจดูสิ่งที่เราแก้ไขอีกครั้ง ว่าถูกต้องหรือต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า

6.ส่งกลับไปยังนักเขียน

การส่งกลับไปยังนักเขียนครั้งนี้ เพื่อเป็นตรวจสอบความถูกต้องครั้งสุดท้าย ซึ่งตรงนี้จะไม่ค่อยมีการแก้ไขอะไรแล้ว โดยผลงานจะสมบูรณ์ไปแล้ว 95% ดังนั้น นักเขียนแค่ตรวจดูความละเอียดของเนื้อเรื่องเท่านั้น เมื่อตรวจเสร็จก็ส่งต้นฉบับกลับไปที่บรรณาธิการ และจะกลายเป็น ต้นฉบับ 100%

7.จัดหน้ากระดาษ

หลังจากที่ ต้นฉบับ A4 ถูกตรวจสอบครบถ้วนแล้ว จะมีทีมงานฝ่ายบรรณาธิการทำหน้าที่จัดการกับหน้ากระดาษให้เป็นไปตามโครงสร้างของรูปแบบที่เราตั้งใจจะจัดทำออกมา ตรงนี้จะมีการกำหนดรูปแบบของหนังสือด้วยว่า ขอบบน ขอบล่าง ด้านข้างทั้งสอง เว้นเท่าไหร่ ? ตัวหนังสือแบบไหน ? ไซส์อะไร ? ขนาดช่องไฟ ช่องว่างการเว้นบรรทัดเท่าไหร่ ? การย่อหน้าเท่าไหร่ ? หลังจากจัดหน้ากระดาษแล้ว ส่วนมากนักเขียนจะได้ดูอีกรอบ เพื่อตรวจว่าเขาจัดการถูกต้องไหม ? นั่นเอง

8.เข้ารูปเล่ม

หลังจากที่ต้นฉบับถูกพิมพ์เพลทออกมาเรียบร้อย ก็จะเอาต้นฉบับพวกนี้ไปเข้ารูปเล่มแบบที่ทางทีมบรรณาธิการแนะนำ และเมื่อเสร็จการเข้ารูปเล่ม ต้นฉบับของนักเขียนก็จะกลายเป็นผลงาน

อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม ต้องทำอย่างไร มีกี่ขั้นตอน

 

ต้นทุนการผลิตหนังสือ 1 เล่ม

ต้นทุนการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มนั้น มีกระบวนการหลายขั้นตอน หากไม่ได้อยู่ในแวดวงการก็ไม่มีทางรู้ว่า หนังสือแต่ละเล่มที่วางขายอยู่บนแผงหนังสือนั้น มีต้นทุนในการผลิตเท่าไหร่ ? ซึ่งต้นทุนที่นักเขียนต้องรู้นั้นมี ดังนี้

1.ค่าลิขสิทธิ์ของนักเขียน

ทุกงานเขียนจะต้องถูกเขียนโดนนักเขียน ทางสำนักพิมพ์จะต้องลงทุนในค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งค่าลิขสิทธิ์นี้จะขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างสำนักพิมพ์และนักเขียน

2.ค่าจ้างออกแบบกราฟิกดีไซน์

ภาพปกของหนังสือที่สวยงาม เป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบมืออาชีพ ที่สร้างสรรค์งานออกมาเป็นปกหนังสือและกราฟิกต่าง ๆ ในหนังสือ

3.ค่าบรรณาธิการ และพนักงานในสายการผลิต

การทำหนังสือ 1 เล่มจะต้องมีบรรณาธิการ และเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์อักษร รวมไปถึงการจัดเรียงหน้าต่าง ๆ ของหนังสือเพื่อให้หนังสือเล่มหนึ่งน่าอ่านก่อนที่จะพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม

4.ค่าวัตถุดิบในการจัดทำ

ค่าจัดทำวัตถุดิบต่าง ๆ กระดาษ ค่าประกอบเล่ม ค่าพิมพ์ต่างๆ

5.ค่าฝากขายในร้าน

หนังสือขายส่ง ต้นทุนค่าฝากขายร้านนับว่าเป็นต้นทุนที่มากที่สุดของการพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งเลย เพราะร้านหนังสือและสายส่งจะคิดราคาตรงนี้อยู่ที่ 40% ของราคาปก ซึ่งทางสำนักพิมพ์จะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นต้นทุนต่อการผลิตหนังสือหนึ่งเล่ม เราจะเห็นได้ว่าการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มนั้นทางสำนักพิมพ์จะมีกำไรไม่มากเท่าไหร่

ต้นทุนการผลิต E-book นั้นประหยัดกว่าหนังสือเล่มมาก เมื่อเทียบกับการจัดทำในรูปแบบการพิมพ์แบบกระดาษ เพราะต้นทุนที่ต้องจ่ายในการผลิต เกี่ยวกับค่าวัตถุดิบกระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าเข้าเล่มต่าง ๆ นั้น จะถูกนำมาใช้สำหรับการจัดทำลงระบบ E-book แพลตฟอร์มออนไลน์แทน และจุดแข็งอย่างหนึ่ง คือ การที่เข้าถึงหนังสือได้พร้อมกันในเวลาเดียวกันจากอุปกรณ์ที่หลากหลาย

และนี่คือทั้งหมดที่ นักเขียน ต้องมีความรู้ กว่านักเขียนจะมีหนังสือเป็นของตัวเองได้ 1 เล่มนั้น บอกเลยว่าไม่ใช้เรื่องง่าย ๆ เลยที่จะมีหนังสือเป็นของตัวเองได้

สุดท้ายนี้ หากนักเขียนท่านไหนอยากทำหนังสือตัวอย่าง หรือ demo เพื่อเสนอ บริษัท สยามจุลละมณฑล จำกัด ยินดีให้บริการออกแบบและรับพิมพ์หนังสือทุกรูปแบบ โดยไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำ เพียง 1 เล่มก็สามารถพิมพ์ได้ เราพร้อมให้คำปรึกษา คำแนะนำ และรับประกันงานพิมพ์คุณภาพ สวยงาม ไม่เหมือนใคร ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย พร้อมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านงานพิมพ์ที่รวดเร็วและตรงต่อเวลา

ที่มา:

webcache.googleusercontent.com

jampay.in.th

praphansarn.co