กระดาษข่อย ผลผลิตจากสมัยโบราณ

กระดาษข่อย ผลผลิตจากสมัยโบราณ

 

กระดาษข่อยเป็นสมุดเอกสารตัวเขียนแบบพับที่เคยนิยมใช้ในวัฒนธรรมพุทธ ส่วนใหญ่มักใช้เขียนตำราทางโลก เช่น พระราชพงศาวดาร เอกสารทางกฎหมาย และงานวรรณกรรม ในขณะที่เอกสารตัวเขียนใบลานมักใช้กับตำราทางศาสนา นอกจากนี้ สมุดนี้มีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น ‘ปะระไบ’ ในภาษาพม่า ‘สะหมุดข่อย’ ในภาษาลาว ‘พับสา’ ในภาษาไทยถิ่นเหนือและลาว และ ‘ไกรง์’ ในภาษาเขมร
.
กระดาษข่อยถือเป็นกระดาษที่คนไทยผลิตขึ้นใช้เองมาแต่โบราณ แต่เมื่อระบบการผลิตกระดาษแบบอุตสาหกรรมและการพิมพ์เข้ามาการทำกระดาษข่อยก็เริ่มสูญหายไป แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า การทำกระดาษในเมืองไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่พบว่าในสมัยอยุธยามีการทำกระดาษข่อยใช้แล้ว โดยหลักฐานสำคัญคือพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่บันทึกพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบนกระดาษข่อยสีดำด้วยตัวอักษรสีขาว (หรือเรียกว่า สมุดไทยดำ) ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.2223
.
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกการทำกระดาษและสมุดของชาวกรุงศรีอยุธยาไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในราว พ.ศ.2223 ว่า

“…ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่าๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้นข่อย (Ton Coe) อีกด้วย ซึ่งต้องนำมาบดย่อยให้ละเอียด เช่น การย่อยผ้าขี้ริ้ว แต่กระดาษเหล่านี้มีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ ทั้งเนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็หย่อนกว่าของเรา…

“…หนังสือของพวกเขาไม่มีการเข้าเล่ม เย็บสัน หากทำเป็นยาวเหยียดไม่ใช้วิธีม้วนเก็บเช่นบรรพบุรุษของเรา หากพับทบไปมาอย่างพับพัดด้ามจิ้ว และทางที่ตีเส้นบรรทัดเขียนตัวอักษรนั้นเป็นไปตามยาวของรอยพับหาได้เขียนทางด้านขวางไม่”
.
(อ้างอิงจาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, เล่ม 1, พ.ศ.2510)
.
.
ซึ่งในปัจจุบันเองยังมีการผลิตกระดาษข่อยมาใช้อยู่นะคะ อยู่ที่ #ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองค่ะ
.
ทางศูนย์ฯ ใช้ #กระดาษข่อยโบราณ ในการทำหัวโขน ทำตาลปัตรถวายแด่พระสงฆ์ในงานพิธีสงฆ์ของศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ และทำเป็นของที่ระลึกจำหน่ายในการแสดงโขนของมูลนิธิ โดยเขียนภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีไทยลงบนกระดาษข่อย
.
ซึ่งกว่าจะได้กระดาษข่อย 1 แผ่น สมุดข่อย 1 เล่ม และหัวโขน 1 หัว ต้องผ่านขั้นตอนการทำที่ซับซ้อนบวกกับแรงกาย แรงใจ และทักษะฝีมืออย่างมาก ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาของไทยมิให้สูญหาย