สรุป 11 ขั้นตอน เขียนหนังสือเริ่มต้น สำหรับมือใหม่
หนังสือเรื่อง How to Write A Book ของ David Kadavy เป็นหนังสือสั้นๆ ที่อธิบายวิธีการเขียนหนังสือแบบเป็นขั้นตอนสำหรับมือใหม่ สยามจุลละมณฑลจึงขอสรุปเนื้อหาสำคัญมาให้อ่านกันค่ะ
.
สรุป 11 ขั้นตอน เขียนหนังสือเริ่มต้นสำหรับมือใหม่ จากหนังสือ How to Write A Book
.
1. สร้างนิสัยการเขียนแบบน้อยๆ
เริ่มด้วยการเขียนทุกวันหรือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยแบ่งเวลา 10 นาทีในการเขียนทุกวัน จนกระทั่งเป็นนิสัย
*สิ่งสำคัญคือ เริ่มต้นน้อยๆ ก่อน อย่าฝืนตัวเอง เพราะการเขียนน้อยๆ จะทำให้เราไม่มีข้อแก้ตัวในการไม่เขียน
.
2. รู้ว่าหนังสือคืออะไร
หนังสือคือผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ผลิตภัณฑ์คือสิ่งของที่ลูกค้าซื้อเพื่อทำงานบางอย่าง ดังนั้นนักเขียนควรเข้าใจหนังสืออย่างแท้จริง
.
3. สร้างนิสัยการเผยแพร่งานเขียน
หลังจากที่เขียนจนเป็นนิสัยแล้ว ก็เริ่มเผยแพร่งานเขียนของตนเองด้วยการ publish งานเขียนใน Medium.com
.
4. สร้าง Email List
การสร้าง email list จะทำให้เรามีกลุ่มผู้อ่านที่จะติดตามงานเขียนของเราทาง email โดยอาจมีของขวัญมอบให้ผู้สมัครใน mailing list เช่น บทความพิเศษ หนังสือแจกฟรี
.
5. ตั้งชื่อหนังสือที่ขายได้
การตั้งชื่อหนังสือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีสิ่งที่ต้องพิจารณา เช่น เป็นคำที่เข้าใจง่ายหรือไม่ ชื่อเรื่องมีความหมายแอบแฝงหรือไม่ คนอ่านกล้าหยิบหนังสือเรื่องนี้มาอ่านหรือบอกคนอื่นว่าอ่านเรื่องนี้หรือไม่
.
6. เขียนโครงร่างหนังสือ
เขียนโครงร่างหรือบทต่างๆ ของหนังสือ ซึ่งอาจต้องลองเขียนหลายครั้ง จนกว่าจะได้โครงร่างหนังสือที่เหมาะสมในที่สุด เราจะได้โครงร่างหนังสือที่พร้อมจะเขียนเป็นฉบับร่าง
.
7. เขียนฉบับร่างครั้งแรก
วางแผนว่า แต่ละวันจะเขียนกี่คำ กำหนดตารางเวลาที่แน่นอน และทำตามกำหนดการให้ได้ในฉบับร่างครั้งแรก อาจเขียนบทละ 250 – 500 คำ ซึ่งสำหรับคนที่เขียนสม่ำเสมอแล้ว จะไม่ใช่เรื่องยาก
.
8. อ่านฉบับร่างครั้งแรก
เมื่อเขียนฉบับร่างครั้งแรกเสร็จแล้วก็พิมพ์บนกระดาษ จะทำให้เราภูมิใจที่ได้เห็นงานเขียนของเราเป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้ จากนั้น อ่านงานเขียนทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเขียนทั้งหมด แล้วหยุดไปทำอย่างอื่น โดยไม่แตะต้องต้นฉบับอีกหลายวันหรือหลายสัปดาห์
.
9. ปรับปรุงโครงร่างหนังสือ
เมื่อกลับมาดูฉบับร่างอีกครั้ง เราอาจเกิดไอเดียใหม่ในการปรับปรุงโครงร่างหนังสืออีกครั้ง อาจตัดบางอย่างหรือเพิ่มเนื้อหาบางอย่าง
.
10. เขียนฉบับร่างครั้งที่สอง
ถึงเวลาปรับปรุงฉบับร่างครั้งแรกอีกครั้ง โดยดูที่โครงร่างของหนังสือ ประโยคของแต่ละบทและเรื่องเล่าประกอบของแต่ละบท เพื่อทำให้หนังสือน่าสนใจมากขึ้น
.
11. เขียนฉบับร่างครั้งสุดท้าย
หาบรรณาธิการเพื่อช่วยตรวจหนังสือ หาคำผิดต่างๆ และถึงเวลาของนักเขียนที่ต้องยอมรับว่า หนังสือที่เขียนอาจจะไม่สมบูรณ์ 100 % แต่แทนที่จะเสียเวลาอีกหลายเดือนในการปรับปรุงหนังสือ การตีพิมพ์หรือเผยแพร่หนังสือตอนนี้อาจจะดีกว่าเพราะเรายังเขียนหนังสือเล่มอื่นที่ดีกว่านี้ได้เสมอ