E-Learning อีเลิร์นนิง ระบบการสอนรูปแบบใหม่ในห้องเรียนออนไลน์

E-Learning อีเลิร์นนิง ระบบการสอนรูปแบบใหม่ในห้องเรียนออนไลน์

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนในสังคม แม้แต่เรื่องการศึกษา เทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทที่ช่วยให้ความรู้และทักษะต่าง ๆ ถ่ายทอดออกไปได้ไกลมากขึ้น ระบบ E-Learning จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะใช้เป็นสื่อเสริมการเรียนการสอนในห้องเรียน เป็นความรู้เพิ่มเติม ไปจนถึงเป็นสื่อการเรียนการสอนหลักสำหรับผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลหรือไม่สะดวกจะเข้าเรียนในห้องเรียน

elearning-intracon

E-Learning คืออะไร ?

E-Learning (อีเลิร์นนิง) ย่อมาจาก Electronics Learning โดยศัพท์บัญญัติภาษาไทยของคำนี้ คือ “การเรียนอิเล็กทรอนิกส์” เป็นการศึกษาทางไกลรูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องไปเรียนในห้องเรียน แต่เรียนตามความถนัด ความสนใจในช่วงเวลาที่สะดวก โดยอาศัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สัญญาณดาวเทียม เป็นตัวเชื่อมผู้เรียนและผู้สอนเข้าด้วยกัน เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การเรียนบนเว็บไซต์ (Web-Based Learning) โดยที่ผู้สอนและผู้เรียนยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านทางแช็ต อีเมล ไปจนถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้ E-Learning เป็นวิธีการเรียนที่ครบวงจรเพราะผู้สอนสามารถทดสอบประเมินผลหลังเรียนจบได้เช่นกัน

องค์ประกอบของ E-Learning ที่ขาดไม่ได้

 
  1. ระบบจัดการการศึกษา (Education Management System)

ไม่ว่าระบบใดในโลกก็ต้องมีการจัดการ เพื่อทำหน้าที่ควบคุม และประสานงาน ให้ระบบดำเนินไปอย่างถูกต้อง องค์ประกอบนี้สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่ในการวางแผน กำหนดหลักสูตร ตารางเวลา แผนด้านบุคลากร แผนงานบริการ แผนด้านงบประมาณ แผนอุปกรณ์เครือข่าย แผนประเมินผลการดำเนินงาน และทำให้แผนทั้งหมด ดำเนินไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการประเมิน และตรวจสอบ กระบวนการต่าง ๆ ในระบบ และนำหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ระบบดำเนินต่อไปด้วยดี และไม่หยุดชะงัก 

  1. เนื้อหารายวิชา เป็นบท และเป็นขั้นตอน (Contents)

หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอน คือ การเขียนคำอธิบายรายวิชา วางแผนการสอน ให้เหมาะสมกับเวลา ตรงกับความต้องการของสังคม สร้างสื่อการสอนที่เหมาะสม แยกบทเรียนเป็นบท มีการมอบหมายงานเมื่อจบบทเรียน และทำสรุปเนื้อหาไว้ตอนท้ายของแต่ละบท พร้อมแนะนำแหล่งอ้างอิงเพิ่มเติมให้ไปศึกษาค้นคว้า 

  1. สามารถสื่อสารระหว่างผู้เรียน และผู้สอน หรือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน (Communication)

ทุกคนในชั้นเรียนสามารถติดต่อสื่อสารกัน เพื่อหาข้อมูล ช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือตอบข้อซักถาม เพื่อให้การศึกษาได้ประสิทธิผลสูงสุด สื่อที่ใช้อาจเป็น E-mail, โทรศัพท์, Chat board, WWW board หรือ ICQ เป็นต้น

ผู้สอนสามารถตรวจงานของผู้เรียน พร้อมแสดงความคิดเห็นต่องานของผู้เรียน อย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยผลการตรวจงาน เพื่อให้ทุกคนทราบว่า งานแต่ละแบบมีจุดบกพร่องอย่างไร เมื่อแต่ละคนทราบจุดบกพร่องของตน จะสามารถกลับไปปรับปรุง หรืออ่านเรื่องใดเพิ่มเติมเป็นพิเศษได้ 

  1. วัดผลการเรียน (Evaluation)

งานที่ผู้สอนมอบหมาย หรือแบบฝึกหัดท้ายบท จะทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ และเข้าใจเนื้อหาวิชามากขึ้น จนสามารถนำไปประยุกต์ แก้ปัญหาในอนาคตได้ แต่การจะผ่านวิชาใดไป จะต้องมีเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อวัดผลการเรียน ซึ่งเป็นการรับรองว่าผู้เรียนผ่านเกณฑ์ จากสถาบันใด ถ้าไม่มีการสอบก็บอกไม่ได้ว่าผ่านหรือไม่ เพียงแต่เข้าเรียนอย่างเดียว จะไม่ได้รับความเชื่อถือมากพอ เพราะเรียนอย่างเดียว ผู้สอนอาจสอนดี สอนเก่ง สื่อการสอนยอดเยี่ยม แต่ผู้เรียนนั่งหลับ หรือโดดเรียน ก็ไม่สามารถนำการรับรองว่าเข้าเรียนนั้น ได้มาตรฐาน เพราะผ่านการอบรม มิใช่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจากการสอบ การวัดผลการเรียน จึงเป็นการสร้างมาตรฐาน ที่จะนำผลการสอบไปใช้งานได้ ดังนั้น E-learning ที่ดีควรมีการสอบ ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่

Learn from home with individual eLearning courses

รูปแบบการเรียนการสอน 3 ประเภท ที่น่าติดตาม

 

1) การใช้เว็บไซต์เพื่อการเรียนการสอน (Web Facilitated)  

เป็นการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีบนเว็บไซต์เพื่ออำนวยความสพดวกในการสอน โดยเทคโนโลยีที่ใช้อาจอยุ่ในรูปแบบของระบบบริหารจัดการวิชา (Course Management System) สัดส่วนของการนำเสนอเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่ ร้อยละ 1 – 29

2) ผสมผสาน (Blended / Hybrid) 

เป็นการเรียนการสอนที่มีการใช้เทคโนโลยีบนเว็บไซต์เพื่อนำเสนอเนื้อหาโดยวิธีการสอนแบบผสมผสาน(Blended Online)โดยการนำเอาวิธีการสอนแบบออนไลน์กับวีพบปะผุ้เรียนในห้องเรียน (Face to Face) มาใช้ด้วยกันภายในวิชาเรียนเดียวกัน สัดส่วนของการนำเสนอเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่ ร้อยละ 30 – 79

3) ออนไลน์ (online) 

เป็นการเรียนการสอนที่นำเสนอเนื้อหาทั้งหมดผ่านการเรียนออนไลน์ชนิดเต็มรูปแบบ และโดยทั่วไปรูปแบบการเรียนแบบนี้จะไม่มีการพบปะกับผู้เรียนในห้องเรียนเลย (No Face to Face) สัดส่วนของการนำเสนอเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตจะมากกว่าร้อยละ 80

นอกจากนี้การใช้อีเลิร์นนิงยังสามารถแบ่งรูปแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิงโดยการแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ทางการเรียนการสอนโดยสามารถแบ่งรูปแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิงเป็นอีก 3 รูปแบบ คือ

  1. อีเลิร์นนิงเพื่อเสริมการเรียน (Supplement) เป็นการใช้อีเลิร์นนิงเพื่อเสริมจากการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยยังคงใช้วิธีการสอนแบบเดิมในชั้นเรียนเป็นหลักและใช้อีเลิร์นนิงเป็นการเสริมการเรียน เช่น เป็นบทเรียนทบทวน เป็นเว็ปความรู้เพิ่มเติม หรือเป็นแบบทดสอบความรู้ที่มีเฉลยและข้อมูลป้อนกลับ (feed back) เป็นต้น
  1. อีเลิร์นนิงเพื่อการสอนแบบผสมผสาน (blended / hybrid learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนอีเลิร์นนิง และแบบเดิมในชั้นเรียนร่วมกัน โดยมีสัดส่วนการแบ่งจำนวนครั้ง หรือหน่วยการเรียนที่จะเรียนด้วยวิธีใด ใช้อีเลิร์นนิงลดสัดส่วนเวลาในการสอนแบบเดิมในชั้นเรียน
  1. อีเลิร์นนิงที่เป็นทั้งระบบการเรียนการสอน (Comprehensive replacement) เทียบเคียงได้กับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning) การใช้อีเลิร์นนิงรูปแบบนี้สามารถจำแนกตามวิธีการจัดการเรียนการสอนได้เป็น 2 วิธีการ คือ 
  • ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self – Paced Learning) เป็นการเรียนอีเลิร์นนิงที่ทดแทนการสอนปกติโดยเรียนเนื้อหาจากสื่อการเรียน เครื่องมือสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต และประเมินผลการเรียนของตัวเองวิธีนี้ผู้เรียนสามารถเลือกเนื้อหา และเวลาเรียนตามที่ตนพร้อมและสะดวก ในบทบาทของการกำหนดให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองจากสื่อ การเรียนด้วยวิธีนี้ผู้สอนมีหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ด้วยวิธีอีเลิร์นนิงจัดเตรียมสื่อและกิจกรรมการเรียนไว้เท่านั้น ผู้สอนมีบทบาทในขณะที่ผู้เรียนกำลังเรียน
  • ผู้เรียนเรียนจากผู้สอนออนไลน์ เป็นการเรียนอีเลิร์นนิงที่ทดแทนการสอนในระบบชั้นเรียนโดยเรียนผ่านเนื้อหา สื่อการเรียน เครื่องมือสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต และประเมินผลการเรียนในระบบออนไลน์ โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมตามระยะเวลา เหมือนการสอนในระบบชั้นเรียน ต่างกันตรงที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่ได้เผชิญหน้ากัน (face to face) การเรียนด้วยวิธีนี้ผู้สอนรับหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ด้วยวิธีอีเลิร์นนิง จัดเตรียมสื่อ และกิจกรรมการเรียน ร่วมกิจกรรมการเรียนผ่านเครื่องมือสื่อสารการเรียนการสอนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในออนไลน์
 

ประโยชน์ของ E-Learning ต่อผู้เรียนและผู้สอน

การเข้าถึงได้ง่าย

ประโยชน์ที่สำคัญของ E-Learning คือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเรียนด้วย E-Learning จะใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณดาวเทียม เพียงมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถเรียนได้แล้ว จึงสะดวกต่อผู้เรียนที่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง ไม่ว่าผู้เรียนจะเป็นใครก็สามารถเลือกช่วงเวลาเรียนได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนหรือเวลาใด เป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาไม่ได้จำกัดแค่ในตัวเมืองแต่กระจายไปยังท้องถิ่นได้มากขึ้น

เรียนรู้ด้วยสื่อที่หลากหลาย

เนื่องจากการเรียนการสอนแบบ E-Learning นั้นเป็นการประยุกต์นำเอาเทคโนโลยีที่หลากหลายมาเป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ข้อความ เสียง ภาพกราฟิก ไปจนถึงวีดิทัศน์ ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเป็นอิสระและเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจในการเรียนได้เป็นอย่างดี

มีความยืดหยุ่นสูง

ประโยชน์ที่โดดเด่นอีกข้อหนึ่งคือ เรื่องของความยืดหยุ่น ผู้สอนสามารถเข้าไปปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยได้เสมอและยังเข้าไปแก้ไขข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ได้ตลอดไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม หากมีข้อมูลใหม่ที่จำเป็นต้องอัปเดตก็ทำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้สอนยังใส่เกมหรือแบบทดสอบต่าง ๆ ลงไปในสื่อการสอนได้ด้วย นั่นก็เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเรียนซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีให้กับผู้เรียนจนอยากกลับมาเรียนเพิ่มเติมในเนื้อหาใหม่ ๆ ต่อไป

ถึงแม้ว่า E-Learning จะมีประโยชน์หลากหลายด้าน และสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนทางออนไลน์เป็นการเลือกเรียนตามที่ผู้เรียนต้องการซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของตัวผู้เรียนเองด้วย ในขณะเดียวกันผู้สอนเองก็ต้องออกแบบสื่อการสอนให้น่าสนใจ จูงใจผู้เรียน รวมถึงต้องมีเนื้อหาครบถ้วนมากพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ด้วย ไม่เช่นนั้นหากไม่ได้ออกแบบให้น่าสนใจก็จะเกิดความเบื่อหน่ายทำให้ไม่อยากเรียนได้นั่นเอง

ที่มา : 

https://www.thaibusinesssearch.com/studying/e-learning/